บีบีซีนิวส์ - การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยและจบออกมาทำงานที่ต้องใช้สติปัญญาและความคิด ช่วยปกป้องสมองจากผลกระทบของโรคอัลไซเมอร์ที่มีต่อความจำ
นักวิจัยแดนมักกะโรนี พบว่า ปัญหาเนื้อเยื่อถูกทำลายที่นำไปสู่การสูญเสียความทรงจำจะเกิดเร็วขึ้นกับผู้ที่สมองถูกกระตุ้นให้ทำงานน้อย บ่งชี้ว่าการใช้ความคิดมากๆ หรือยีนบางชนิดที่ช่วยให้คนเราประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน อาจปกป้องสมองจากโรคอัลไซเมอร์ได้
แม้มีงานศึกษาหลายฉบับซึ่งอิงกับอาการของโรค บ่งชี้ว่า การกระตุ้นให้สมองทำงานอาจสกัดโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่กลับมีงานศึกษาน้อยชิ้นที่มุ่งประเด็นความเสียหายของโรคนี้ที่เกิดกับสมองโดยตรง
ในวารสารนิวโรโลจี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซานราฟฟาเอลในมิลาน รายงานว่า ได้ใช้เครื่องสแกนสมองเพื่อค้นหาองค์ประกอบต่างๆ และโปรตีนของอัลไซเมอร์ในผู้สูงวัย 242 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 72 คนมีภาวะสมองเสื่อมเล็กน้อย และอีก 144 คนไม่มีปัญหาความจำ
ในช่วงเวลา 14 เดือน กลุ่มตัวอย่าง 21 คนที่สมองเสื่อมเล็กน้อยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์
อย่างไรก็ตาม จากการเปรียบเทียบผลการสแกนด้วยคลื่นแม่เหล็ก (เอ็มอาร์ไอ) ในกลุ่มคนที่มีปัญหาความจำระดับเดียวกัน พบว่าเนื้อสมองถูกทำลายอย่างกว้างขวางในผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และยิ่งกว้างขึ้นในกลุ่มคนทำงานที่ต้องใช้สมอง
นักวิจัย อธิบายว่า สิ่งที่พบหมายความว่า สมองของกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้รับมือกับอัลไซเมอร์ได้ดีกว่า ซึ่งอาจเกิดจากการสร้าง ‘สติปัญญาสำรอง’ ที่ได้รับการปกป้องจากโรคนี้
ดร.วาเลนตินา การิบ็อตตา ผู้นำการวิจัย กล่าวว่า สมองของผู้จบมหาวิทยาลัยและทำงานใช้สมองสามารถชดเชยความเสียหายจากอัลไซเมอร์ จึงยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้เนื้อสมองเสียหาย
“มีคำอธิบายที่เป็นไปได้ 2 อย่างคือ สมองอาจเข้มแข็งขึ้นจากการเรียนหรืองานที่ท้าทาย หรือปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้คนเราสามารถเรียนสูงๆ และประสบความสำเร็จในอาชีพนั้น อาจเป็นตัวกำหนดปริมาณของสติปัญญาสำรอง”
โฆษกของอัลไซเมอร์ส โซไซตี้ แสดงความเห็นต่องานวิจัยนี้ว่า เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเพราะถือเป็นงานวิจัยฉบับแรกที่ใช้เอ็มอาร์ไอสแกนอย่างจริงจัง ซึ่งทำให้รู้ว่าในบรรดาคนที่เป็นอัลไซเมอร์ระยะแรกนั้น กลุ่มที่เรียนสูงมีอาการสมองเสื่อมน้อยกว่าคนอื่นๆ ที่เนื้อสมองถูกทำลายพอๆ กัน
“งานวิจัยก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่าคนที่มี ‘สติปัญญาสำรอง’ จัดการกับอาการของโรคสมองเสื่อมได้ดีว่า แต่จนถึงขณะนี้กลับมีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมน้อยมาก อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน เพื่อหาวิธีจัดการกับอาการของโรคนี้”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น