| ||
เอเจนซี - อาบน้ำแทนที่จะทำให้เนื้อตัวสะอาด งานวิจัยจากอเมริกากลับชี้ว่าหัวฝักบัวสามารถสะสมเชื้อโรค และทำให้คนอาบป่วย ขณะเดียวกัน รายงานจากสก็อตแลนด์ย้ำเหงื่อเป็นสารสื่อรักตามธรรมชาติ และยาเสน่ห์นี้อาจมีฤทธิ์อ่อนลงจากการอาบน้ำ
การวิเคราะห์หัวฝักบัว 50 ชุดจาก 9 เมืองในสหรัฐฯ พบว่า 30% เป็นที่อาศัยของเชื้อ Mycobacterium avium จำนวนมาก
ไมโคแบคทีเรียม เอเวียมคือกลุ่มแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดเมื่อคนสูดดมหรือกลืน เข้าไป และมีความเชื่อมโยงกับโรคปอด ทำให้เกิดอาการ อาทิ ไอเรื้อรัง หายใจขัด เหนื่อย โดยมักแพร่เชื้อกับคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคโลราโดพบเชื้อไมโคแบคทีเรียม เอเวียมในหัวฝักบัวมากกว่าที่พบในเครื่องใช้ภายในบ้านอื่นๆ ถึงร้อยเท่า
นอร์แมน เพซ ผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ กล่าวว่าการวิจัยจากโรงพยาบาลเนชันแนล ยิววิชในเดนเวอร์ พบว่าการติดเชื้อในปอดที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษนี้จากเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ไมโคแบคทีเรียอย่างไมโค แบคทีเรียม เอเวียม อาจเกี่ยวพันกับการที่คนใช้ฝักบัวกันมากขึ้น
เพซเสริมว่า น้ำที่ฉีดออกมาจากหัวฝักบัวอาจแพร่กระจายละอองของเหลวที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค ที่สามารถลอยอยู่ในอากาศ และถูกสูดดมเข้าสู่ส่วนที่ลึกที่สุดของปอด
ปัญหามาจากการที่ภายในหัวฝักบัวเป็นที่พักพิงอย่างดีสำหรับแบคทีเรีย เพราะมีทั้งความชื้น ความอุ่นและความมืด อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยืนยันว่าการอาบน้ำฝักบัวยังปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ และแนะนำให้ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากยาจำกัดภูมิคุ้มกัน หรือจากยาบำบัดเอชไอวี ใช้หัวฝักบัวที่ทำจากโลหะและเปลี่ยนบ่อยๆ
ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารโปรซีดดิงส์ ออฟ เนชันแนล อะคาเดมี ออฟ ไซนส์เมื่อต้นสัปดาห์ สำทับว่าหัวฝักบัวไม่ใช่ที่เดียวที่เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคภายในบ้าน
เลห์ ฟีเซล ผู้ร่วมทำการวิจัยสำทับว่า ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจวัดระดับแบคทีเรียในอุปกรณ์เครื่องใช้ภาย ในบ้านอื่นๆ เช่น เครื่องเพิ่มความชื้น และเครื่องปรับอากาศระบบไอน้ำ
ขณะเดียวกัน งานศึกษาอีกชิ้นจากสกอตแลนด์พบว่า สารเคมีตามธรรมชาติที่พบในเหงื่อของผู้ชายทำหน้าที่เป็นยาเสน่ห์มาตั้งแต่ สมัยดึกดำบรรพ์ และเสน่ห์รัดรึงใจนี้อาจเจือจางลงจากการอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย
สารดังกล่าวที่มาจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของเพศชาย มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจของผู้หญิงในสถานการณ์การนัดบอดแบบไฮสปีด ว่าผู้ชายตรงหน้ามีเสน่ห์ดึงดูดมากน้อยแค่ไหน
แทมซิน แซ็กซ์ตัน จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดริวส์ ทำการศึกษาอิทธิพลของสาร androstadienone (แอนโดรสทาไดอีโนน) โดยการนำไปแต้มที่ริมฝีปากบนของอาสาสมัครหญิง 50 คนในการทดลองยามค่ำ ก่อนที่อาสาสมัครเหล่านั้นจะนัดบอดแบบไฮสปีด
ผลปรากฏว่าผู้หญิงทุกช่วงอายุที่ถูกแต้มสารแอนโดรสทาไดอีโนนให้คะแนน ความมีเสน่ห์ของชายหนุ่มที่พบสูงกว่าที่อาสาสมัครที่ถูกแต้มด้วยน้ำหรือ น้ำมันกานพลูให้
ดร.แซกซ์ตันกล่าวในงานเทศกาลวิทยาศาสตร์แห่งอังกฤษว่า น้อยคนนักจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสารชนิดนี้นอกจากว่าพบในเหงื่อคนเราทั้งชาย และหญิง และมาจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
"บางคนไม่ได้กลิ่นด้วยซ้ำ บางคนได้กลิ่นและบอกว่ารับได้ บางคนบอกเหม็น บางคนบ่นว่ากลิ่นเหมือนผ้าอ้อมเด็กใช้แล้ว"
สมมติฐานหนึ่งคือฟีโรโมน หรือสารเคมีสื่อสารที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างคน เหมือนกับที่ฮอร์โมนเป็นสื่อกลางระหว่างอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ทว่าพวกนักวิทยาศาสตร์ยังมีแนวคิดไม่ค่อยตรงกันนักเกี่ยวกับฟีโรโมนในมนุษย์
ดร.แซกซ์ตันปิดท้ายว่า บางคนเห็นคุณค่าของกลิ่นของผิวตามธรรมชาติ ดังนั้น เราอาจต้องตระหนักไว้ว่ากลิ่นนี้คือเสน่ห์ดึงดูดประจำตัว และการอาบน้ำขัดผิวสะอาดสะอ้านเกินไปอาจทำให้เสน่ห์ตามธรรมชาติบกพร่องได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น