วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

บีทเทิลส์ไขปริศนาเพลงนำพาความทรงจำที่หลงลืม



เดลิเมล์ - ความทรงจำถึงบทเพลงของเดอะ บีทเทิลส์จากทั่วโลก ช่วยให้นักวิจัยเข้าใจว่าเพลงสามารถดึงความทรงจำย้อนกลับสู่เหตุการณ์ที่ลืมเลือนมานานได้อย่างไร

ในการสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ครั้งใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับความทรงจำ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 3,000 คนหวนนึกถึงความทรงจำที่มีชีวิตชีวาที่สุดที่เรียงร้อยกับวงดนตรีอมตะตลอดกาลจากยุค ‘60s

การสำรวจครั้งนี้ใช้เวลาเก็บข้อมูลนาน 6 เดือน โดยผู้ถูกสำรวจมาจาก 69 ชาติ อายุ 17-69 ปี แต่ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 55-65 ปี หรืออยู่ในช่วงวัยรุ่นระหว่างยุคที่สี่เตาทองดังสุดขีดในทศวรรษ 1960

เป้าหมายการศึกษาคือ เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงกับสี่เต่าทองที่แสดงถึงผลลัพธ์ทางจิตวิทยาที่มีต่อความทรงจำในอดีต โดยความทรงจำเหล่านั้นแสดงถึงช่วงชีวิตที่แจ่มชัดที่สุดในมโนนึก และมักเป็นความทรงจำของเหตุการณ์ในช่วงวัยรุ่น

ดร.แคทริโอนา มอร์ริสัน จากมหาวิทยาลัยลีดส์ อังกฤษ พบว่า ในกรณีความทรงจำที่ร้อยเรียงกับเดอะ บีทเทิลส์นั้น การหวนรำลึกถึงความทรงจำเก่าๆ จะเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ

ดร.มอร์ริสัน ชี้ว่า จุดที่น่าสนใจคือความทรงจำส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนต้นคือประมาณ 14 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนเราตัดสินใจเกี่ยวกับรสนิยมทางดนตรี และเป็นช่วงเวลาที่เพลงมีพลังของความประทับใจมากที่สุด

เพลงของเดอะ บีทเทิลส์มีอิทธิพลมากที่สุดต่อคนที่มีช่วงวัยรุ่นอยู่ในยุค 60’s โดยเฉพาะเพลง ‘ชี เลิฟส์ ยู’ ซึ่งเป็นซิงเกิลขายดีที่สุดในทศวรรษดังกล่าว

ขณะที่เพลง ‘ไอ วอนต์ ทู โฮลด์ ยัวร์ แฮนด์’ กระตุ้นความทรงจำของคนอเมริกันได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังงงงันกับความคล้ายคลึงของอารมณ์ ความรู้สึก และภาพเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงกับความทรงจำถึงเดอะ บีทเทิลส์ของคนทั่วโลก

“สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของดนตรีที่ทำให้เกิดความทรงจำ และบางครั้งช่วยปลดปล่อยความทรงจำที่ถูกหลงลืมไปยาวนาน”

นอกเหนือจากการลอบสังหารจอห์น เลนนอน ความทรงจำส่วนใหญ่ที่มีต่อวงสี่เต่าทองล้วนเป็นความทรงจำแง่บวก

“เราคิดว่าเพลงเป็นมากกว่าชีสเค้กสำหรับผู้ใหญ่ แต่เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าคนเราสามารถประเมินค่าตัวเองทั้งในด้านปัจเจกบุคคลและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างไร”

ศาสตราจารย์มาร์ติน คอนเวย์ ผู้ร่วมทำการทดลอง เสริมว่า เป็นไปได้ว่าความทรงจำที่เป็นสุขจากการฟังเพลงเดอะ บีทเทิลส์อาจเป็นวิธีหนึ่งในการบำบัดผู้ที่มีอาการซึมเศร้า

ไม่มีความคิดเห็น: